ConnectBizs

ประเภทของธุรกิจที่คุณควรรู้ เข้าใจให้ชัดและเลือกให้เหมาะกับคุณ

connectbizs

17/02/2025

ประเภทของธุรกิจที่คุณควรรู้

ประเภทของธุรกิจที่คุณควรรู้

การเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คุณประสบความสำเร็จ คือ การเลือกประเภทของธุรกิจให้เหมาะสมกับเป้าหมายและความสามารถของคุณสำหรับคนที่ทำธุรกิจ ต้องทราบดีว่าธุรกิจของตนเองจัดอยู่ในประเภทไหน เพื่อที่จะได้บริหารจัดการธุรกิจและจดทะเบียนการค้าได้ถูกต้อง การรู้จักประเภทธุรกิจของตนเองเป็นอย่างดี จะทำให้การบริหารดำเนินงานเป็นไปได้ดีขึ้น มีความเป็นมืออาชีพและดูน่าเชื่อถือ ดังนั้นวันนี้เราจะพาคุณมารู้จักกับ ประเภทของธุรกิจที่สำคัญ และวิธีเลือกให้เหมาะกับตัวคุณเอง จะมีอะไรบ้างเราไปดูกันเลยครับ.

1. ธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว (Sole Proprietorship หรือ Single Proprietorship)

กิจการเจ้าของคนเดียว คือ การประกอบธุรกิจที่มีบุคคลเพียงคนเดียวเป็นเจ้าของกิจการ ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งผลกำไรและผลขาดทุนเพียงคนเดียว เจ้าของกิจการมีความรับผิดชอบในหนี้สินทั้งหมดไม่จำกัดจำนวน เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินของเจ้าของได้หากทรัพย์สินของกิจการไม่เพียงพอชำระหนี้ ถือเป็นรูปแบบธุรกิจที่สามารถพบเห็นได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านขายของชำ ร้านเสริมสวย ร้านขายเสื้อผ้า เป็นต้น

2. ธุรกิจแบบห้างหุ้นส่วน (Partnership)

ห้างหุ้นส่วน คือ การประกอบธุรกิจร่วมกันของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยจะต้องมีการลงทุนร่วมกันด้วย เงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลกำไรและแบ่งผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจตามสัดส่วนที่ตกลงกัน โดยห้างหุ้นส่วนที่จัดเป็นนิติบุคคลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด

  1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ ห้างหุ้นส่วนประเภท “หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดชอบ” ซึ่งหมายถึง หุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบหนี้สินทั้งหมดที่เกิดขึ้นของห้างหุ้นส่วน โดยไม่มีจำกัด ไม่ว่าสัดส่วนหุ้นที่ลงไปนั้นจะมากหรือน้อยเท่าใด ห้างหุ้นส่วนสามัญจะทำการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่ก็ได้ ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายจะเรียกว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล


  1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ รูปแบบห้างหุ้นส่วนที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จึงมีผลทำให้กิจการนั้นเสมือนเป็นบุคคลและมีสิทธิดำเนินการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดจะประกอบด้วยหุ้นส่วน 2 ประเภท ได้แก่ หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด จะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ รับผิดไม่เกินจำนวนเงินที่ตนลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด และหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด จะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ รับผิดร่วมกันในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมด

3. ธุรกิจบริษัท (Corporation) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท


1) บริษัทเอกชน จำกัด (Corporation) ต้องมีผู้จัดต้องอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป ร่วมกันจดหนังสือบริคณห์สนธิและนำไปจดทะเบียน เมื่อมีผู้ซื้อหุ้นครบแล้วจึงจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท บุคคลทั่วไปไม่สามารถซื้อหุ้นของบริษัทเหล่านี้ได้ ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ หุ้นต้องมีมูลค่าอย่างต่ำหุ้นละ 5 บาท การชำระมูลค่าหุ้นครั้งแรกต้องไม่ต่ำกว่า 25% และผู้ถือหุ้นรับผิดชอบเพียงแค่มูลค่าหุ้นที่ตนถืออยู่เท่านั้น


2) บริษัทมหาชน จำกัด (Public Corporation) ต้องมีผู้จัดตั้งอย่างน้อย 15 คนขึ้นไป ต้องจองหุ้นรวมกันอย่างน้อยร้อยละ 5 ของหุ้นที่จดทะเบียน แต่ละคนถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 10 หุ้นของบริษัทมหาชนมีลักษณะที่ตั้งใจจะขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป โดยผู้ที่ซื้อหุ้นไปจะมีสภาพความเป็นเจ้าของซึ่งจะจำกัดความรับผิดชอบตามมูลค่าหุ้นที่ต้องชำระเท่านั้น

4. รัฐวิสาหกิจ (State Enterprise)

เป็นหน่วยงานที่รัฐบาลเป็นเจ้าของทั้งหมด หรือรัฐบาลร่วมลงทุนเกินกว่า 50% โดยจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ. 2502 มาตรา 13 เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย ท่าเรือแห่งประเทศไทย สถาบันการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคมคอยดูแล การไฟฟ้าการผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงานคอยดูแล การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทยคอยดูแล

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการประกอบธุรกิจทุกรูปแบบ จะต้องมีการจัดทำบัญชีเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและเอกสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกิจการ และจัดทำบันทึกรายการที่เกิดขึ้น เพื่อจะทำให้ทราบผลดำเนินงานและฐานะการเงินของธุรกิจนั้นๆ

การแบ่งประเภทของธุรกิจในทางบัญชีและการจัดทำบัญชีมี 3 ประเภท คือ

ประเภทของธุรกิจที่คุณควรรู้

1. ธุรกิจให้บริการ (Service firm)

คือ ธุรกิจที่จัดทำขึ้นมาเพื่อจะให้บริการในด้านต่างๆ แก่ลูกค้าโดยไม่มีการนำสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้องในการดำเนินงาน เช่น โรงแรมให้บริการห้องพัก ร้านซ่อมรถ ร้านซักอบรีด ร้านเสริมสวย ร้านบริการอินเตอร์เน็ต และบริษัทให้บริการขนส่งสินค้า เป็นต้น

2. ธุรกิจซื้อขายสินค้า (Merchandising firm)

คือ การนำสินค้าจำหน่าย หรือทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน มีสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้องในการดำเนินงาน เป็นธุรกิจที่ซื้อสินค้ามาจากกิจการอื่นนำมาขายให้แก่ผู้บริโภคหรือผู้ขายก็ได้ โดยซื้อมาแบบใดขายไปแบบนั้นไม่มีการแปรสภาพของสินค้า เช่น ห้างสรรสินค้า บริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้า ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ

3. ธุรกิจอุตสาหกรรม (Manufacturing firm)

คือ ธุรกิจที่ทำการแปรสภาพวัตถุดิบ ให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป บางธุรกิจผลิตสินค้าขึ้นมาเองแล้วนำสินค้านั้นออกจำหน่ายด้วยตัวเอง บางธุรกิจผลิตขึ้นมาแล้วส่งให้ผู้อื่นขาย เช่น บริษัทในเครือซีพี บริษัทในเครือสหพัฒนพิบูลย์ บริษัทผลิตรถยนต์

สรุป

จะเห็นได้ว่า แต่ละประเภทธุรกิจ ก็จะมีความแตกต่างกันออกไป อยู่ที่ว่า เจ้าของธุรกิจจัดตั้งขึ้นมาเป็นธุรกิจประเภทไหน เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง เลือกประเภทธุรกิจที่เหมาะกับสิ่งที่ทำอยู่ ก็จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างราบรื่น หวังบทความนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าธุรกิจประเภทไหนเหมาะกับคุณ และนำไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องครับ.